วางแผนเรื่องเงิน ต้องทำตอนมีเงินเท่านั้น..จริงหรือ??
ตอบแทนกูรูเลยค่ะว่า “ไม่จริง!! ” มีมาก มีน้อย หรือติดลบแค่กำหนดเส้นทางให้ชีวิต ก็ถือเป็นเรื่องดีทั้งสิ้นตราบใดที่โลกนี้ยังมีสิ่งแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราปฏิเสธไม่ได้ว่า เงินต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเราทีนี้ก็มีคนถามว่า คนมีเงินเยอะๆ แล้วเอาเงินมาจัดสรรปันส่วนน่ะพอเข้าใจ แต่ถ้าเบี้ยน้อย จะต้องวางแผนยังไงนี่นึกไม่ออกจริงๆ แม้ในวันนี้จะยังไม่มีเงินมากมายให้หยิบมาวางพอร์ตได้หรูหราเหมือนคนอื่น แต่ทุกคนก็คงมีเป้าหมายการเงินในใจของตัวเอง ว่าอีก 5 ปี/10 ปี/20ปี ข้างหน้าเราอยากจะเป็นแบบไหนอยากมีบ้าน มีรถ อยากไปเที่ยวรอบโลก อยากให้ครอบครัวมีความสุข อยากให้ลูกเรียนสูงๆ อยากให้พ่อแม่สุขภาพแข็งแรงอยู่กับเราไปนานๆ ฯลฯ ” จริงอยู่ที่เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตแต่เกือบทุกเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตต่างต้องใช้เงิน”
จริงมั้ยคะ??? ฉะนั้นเราลองมาพิจารณาสมการนี้กันค่ะ
- รายได้-รายจ่าย = เงินออม
เราจะเห็นว่าเป้าหมายและความฝันชีวิตของเราทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องจากเงินออมทีนี้เรามาลองดูกันค่ะว่าฝันที่เราวาดไว้กับเงินออมที่มีมันสัมพันธ์กันรึเปล่าถ้าดูเหมือนมันยังห่างไกล แล้วจะต้องทำยังไงให้ไปได้ถึงฝันหลายคนถึงกับถอดใจตั้งแต่ขั้นตอนนี้ อยากบอกว่ายังไม่ต้องถึงกับดับฝันตัวเองไปเพราะยังมีอีกหลายทางให้เราทำ เพื่อให้เราสำเร็จตามที่ใจปรารถนาให้ลองมองตามสมการที่ให้ไว้ค่ะ
- ทางแรกก็คือ เลือกใช้จ่ายให้น้อยลง ก็ในเมื่อรายได้ของเราคงที่ เงินเดือนเข้าบัญชีมาเท่าๆกันทุกเดือนอยากให้เงินออมเพิ่มขึ้น ก็ต้องยอมตัดค่าใช้จ่ายส่วนที่ไม่จำเป็นทั้งหลายออกไป เข้าตำราอดเปรี้ยวไว้กินหวานยอมอดรับประทานตำมะม่วง เพื่อทานข้าวเหนียวมะม่วงแทน อะไรทำนองนั้นทางเลือกนี้จัดว่าทำได้ง่ายที่สุดในกระบวนยุทธ์ทุกท่านไม่ต้องออกแรงใดๆ แต่เลือกอดใจให้ได้เป็นพอ
- ทางเลือกที่สอง เลือกเพิ่มรายได้ หากค่าใช้จ่ายตึงตัวจนไม่รู้จะตัดอะไรอีกต่อไป แต่เงินออมก็ยังไม่พอ แล้วควรจะทำยังไงดีการเพิ่มตัวแปรต้นของสมการก็เป็นอีกทางที่คนเลือกทำกันเยอะทำอาชีพเสริมจากงานอดิเรกที่ตัวเองรัก ช่วยทั้งรายได้และช่วยเติมเต็มความสุขให้ชีวิต บางคนทำไปทำมารายได้เสริมมากกว่าอาชีพหลักจนหันมาจับทำอาชีพเสริมเป็นหลักไปเลยก็มีทางเลือกนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะถ้าเราไม่มีความถนัดอะไรที่มาทำเงิน และไม่มีเวลาพอจะฝึกฝน ความสามารถอะไรเลย ข้อนี้ก็แทบจะต้องข้ามไป
- ทางเลือกที่สาม เลือกทำงานให้นานขึ้นในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการทำงานนอกเวลา แต่หมายถึง เลื่อนเวลาการ เกษียณอายุงานออกไปเพื่อเพิ่มจำนวนปีในการเก็บออมทางเลือกนี้คงต้องตัดสินใจจากงานที่ทำกันเอง ว่าคุณพอใจจะยืดเวลาทำงานต่อไปหรือไม่ และเงื่อนไขของ องค์กร ยอมให้ต่ออายุการทำงานได้หรือไม่
- ทางเลือกที่สี่ เลือกบริหารเงินออมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง เราทุกคนต่างก็เรียนรู้วิธีออมเงินมาตั้งแต่เด็กกระปุกออมสินจึงอยู่คู่กับเด็กในทุกบ้านเรื่องนำเงินเพื่อไปหาผลตอบแทนเพิ่ม ก็มีให้ศึกษาอยู่มากมาย เกินกว่าจะให้เรียนรู้ได้ในบทความบทหนึ่งขอเพียงแค่คุณรักษาสมดุลของสมการรายได้-รายจ่าย = เงินออม ให้ได้ จนมีเงินออมประมาณหนึ่งคุณก็จะเพลิดเพลินกับการบริหารอย่างไม่มีวันจบ
- ทางเลือกที่ห้า ยอมที่จะลดขนาดความฝันของตัวเองลง จากที่ฝันอยากมีบ้านหลังใหญ่ ขอเหลือบ้านหลังเล็ก 40 ตารางวาก็พอ จากที่ฝันอยากมีเงินเก็บไว้ใช้ตอนเกษียณซัก 10ล้าน ขอเหลือเป็นเงินเก็บหลักแสนตอนเกษียณก็คงพอ จากที่ฝันอยากให้พ่อแม่มีเงินรักษาตอนเจ็บป่วย เปลี่ยนเป็นยอมรักษาเท่าที่เงินมีก็พอ… ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าทางเลือกนี้กลับเป็นทางเลือกที่ถูกเลือกมากที่สุดไม่ใช่เพราะใครต่อใครอยากเลือกแต่เมื่อคุณไม่เลือก เท่ากับว่าคุณได้เลือกแล้ว (คำคมที่ใครซักคนเคยกล่าวไว้)นับเป็นสุดทางของทางเลือก ที่ถ้าเผลอชะล่าใจปล่อยวันเวลา คนส่วนใหญ่ก็มักจะมาจบลงที่ทางเลือกนี้
และนี่ก็คือขั้นแรกในการวางแผนการเงินสำหรับคนที่มีเงินน้อย หรือแม้แต่ยังไม่มี โดยทั้งหมดที่กล่าวมา คุณจะเลือกทำกี่ทางเลือกพร้อมกันก็ได้ตามใจปรารถนา ขอแค่ปลายทางเป็นจุดที่คุณต้องการก็พอ เรื่องการเงินนี้ไม่ว่าคุณจะให้ความสำคัญหรือไม่อยากให้ความสำคัญ คุณจะอยากให้ฝันเป็นจริง หรือเป็นแค่สิ่งที่ฝัน อยู่ที่คุณเท่านั้นเป็นผู้กำหนดเอง “จงเลือกเพราะคุณมีสิทธิ์ ก่อนที่โชคชะตาจะเป็นคนลิขิตชีวิตให้คุณ