เมื่อพูดถึง ประกันสุขภาพ คืออะไร หลายๆคนคงจะนึกถึง การไปนอนโรงพยาบาลแล้วไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพราะมีบริษัทประกันออกค่าใช้จ่ายให้ แต่นั่นคือทั้งหมดของประกันสุขภาพหรือไม่ มาทำความรู้จักประกันสุขภาพกันดีกว่าค่ะ
เนื้อหาบทความ
- นิยามของคำว่า “ประกันสุขภาพ” ตาม คปภ. คือ
- โครงสร้างประกันสุขภาพ
- สัญญาประกันชีวิตหลักที่นำมาแนบกับประกันสุขภาพ
- ประกันสุขภาพ มีกี่แบบ
- สรุป
นิยามของคำว่า “ประกันสุขภาพ” ตาม คปภ. คือ
การประกันภัยที่บริษัทประกันภัยตกลงที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จากการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้เอาประกันภัย ไม่ว่าค่ารักษาพยาบาลนั้นจะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยจากโรคภัย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
โดยการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับการประกันสุขภาพ จะยึดหลักเกณฑ์เดียวกับการประกันภัยประเภทอื่น ๆ คือ “จ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแต่สูงสุดไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้”
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
โครงสร้างประกันสุขภาพ
การซื้อ ประกันสุขภาพ AIA นั้นสัญญาสุขภาพจะถือเป็นสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งต้องมีประกันชีวิตเป็นสัญญาหลักก่อนจึงจะซื้อประกันสุขภาพแนบเพิ่มเติมเข้าไปได้
ให้นึกถึงภาพของขบวนรถไฟ สัญญาหลักที่เป็นประกันชีวิตนั้น จะเปรียบเสมือนหัวขบวนรถไฟ ส่วนสัญญาเพิ่มเติมนั้น จะเปรียบเสมือนตู้ขบวนสินค้า เมื่อขบวนรถไฟมีหัวรถจักรแล้วก็จะสามารถนำพาสินค้าต่างๆไปให้ถึงที่หมายได้
ทั้งนี้ในการแนบสัญญาเพิ่มเติมนั้น จะแนบสัญญาใดหรือกี่สัญญาได้บ้าง จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท
สัญญาประกันชีวิตหลักที่นำมาแนบกับประกันสุขภาพ
ในการเลือกสัญญาประกันชีวิตที่จะมาเป็นสัญญาหลักสำหรับแนบประกันสุขภาพเพิ่มเติมนั้น ต้องวางแผนในตอนเริ่มต้นว่าจะซื้อเป็นประกันชีวิตประเภทใด
ซึ่งประกันชีวิตที่สามารถนำมาแนบประกันสุขภาพเพิ่มได้นั้น ก็จะมีให้เลือกตั้งแต่ ประกันชีวิตตลอดชีพ ประกันสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตควบการลงทุน ฯลฯ
สำหรับท่านใดต้องการจะทำเน้นเฉพาะในส่วนของประกันสุขภาพ ก็สามารถเลือกใช้แบบประกันชีวิตที่ค่าเบี้ยและความคุ้มครองต่ำสุดตามกฎเกณฑ์ เพื่อเน้นแต่เฉพาะในส่วนของค่ารักษาพยาบาลได้ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท)
มีข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า ประกันชีวิตที่เหมาะสมสำหรับนำมาแนบประกันสุขภาพที่ดีนั้น ควรจะเป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองยาว
เพราะหากสัญญาหลักมีความคุ้มครองที่สั้น เมื่อประกันชีวิตที่เป็นสัญญาหลักสิ้นสุดลง ก็เปรียบเสมือนหัวขบวนที่หยุด และวิ่งไปต่อไม่ได้ สัญญาเพิ่มเติมที่เป็นประกันสุขภาพ ก็เป็นอันสิ้นสุดลงไปด้วย
หากกรณีที่ผู้เอาประกันมีประวัติสุขภาพ ประวัติเจ็บป่วยติดตัวไปแล้ว การเริ่มทำประกันสุขภาพเล่มใหม่ อาจจะทำได้ยากขึ้น หรือในบางกรณีหากมีประวัติการเจ็บป่วยแบบรุนแรง ก็อาจจะไม่สามารถทำประกันสุขภาพได้อีกเลย
ประกันสุขภาพ มีกี่แบบ
สัญญาเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มีอยู่มากมาย แบบประกันจะขึ้นอยู่กับบริษัทจะออกแบบมา
แต่ประเภทที่เป็นที่นิยม ได้แก่
-
สัญญาเพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาลและศัลยกรรม
เป็นที่รู้จักกันดีว่า เมื่อต้องไปนอน รพ. แล้ว จะมีบริษัทประกัน มาช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ โดยมากจะหมายถึงสัญญาประเภทนี้ โดยจะมีวงเงินค่ารักษาพยาบาลในหมวดต่างๆ ได้แก่ ค่าห้อง(รวมค่าการพยาบาลและค่าอาหาร), ค่าแพทย์, ค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ, ค่าผ่าตัด ฯลฯ โดยจะจ่ายสินไหมให้ตามจริง แต่ไม่เกินวงเงินที่ซื้อไว้
-
สัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยวันนอนรายวัน
เป็นเงินชดเชยค่าเสียเวลาเนื่องจากการขาดรายได้ เมื่อต้องไปนอน รพ. หากมีการซื้อชดเชยวันนอนไว้ จะจ่ายชดเชยตามจำนวนคืนที่ไปนอน เช่น ซื้อชดเชยวันนอนไว้คืนละ 1,000 บาท เมื่อต้องนอน รพ. 5 คืน ก็จะได้รับชดเชยวันนอนเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท
-
สัญญาชดเชยผลประโยชน์กรณีพบโรคร้ายแรง
หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรง โรคใดโรคหนึ่ง ตามรายการและรยะของโรคที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ จะได้รับเงินชดเชยตามจำนวนเงินเอาประกันที่ได้ซื้อไว้
-
สัญญาเพิ่มเติมชดเชยจากอุบัติเหตุ
เป็นเงินชดเชยเพิ่มเติมเข้าไปจากสัญญาหลัก ให้กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือ ทุพพลภาพ อันเนื่องมาจากการเกิดอุบัติเหตุ
การซื้อสัญญาสุขภาพเพิ่มเติมจะสามารถแนบสัญญาหลายๆตัวในกรมธรรม์เล่มเดียวกันได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นกับเงื่อนไขบริษัทว่าจะสามารถซื้อสัญญาใดได้บ้าง เช่น อาจมีการกำหนดช่วงอายุของการซื้อประกันสุขภาพบางชนิด หรือ มีการกำหนดเงื่อนไขการซื้อแบบขั้นสูงหรือขั้นต่ำของประกันบางประเภทไว้ เป็นต้น
สรุป
ประกันสุขภาพเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการเงินซึ่งป้องกันไม่ให้เราต้องสูญเสียเงินก้อนใหญ่กับการที่จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงมากในปัจจุบัน เป็นการจ่ายเงินก้อนเล็กเพื่อปกป้องเงินก้อนใหญ่ที่เราเตรียมไว้สำหรับเป้าหมายด้านอื่นๆในชีวิต และทำให้เราได้รับการรักษาที่ดีที่สุดที่เราในวันที่เจ็บป่วยโดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล